การทวนสอบ (Verification) คืออะไร

การทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการหาหลักฐานเพื่อยืนยันหรือสนับสนุนว่า นักศึกษาทุกคนมีผลสัมฤทธิ์การศึกษาตรงตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ที่กำหนดไว้เป็นอย่างน้อย

สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอนจำเป็นต้องดำเนินการให้มีการทวนสอบในทุกระดับการศึกษา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า จะได้รับการจัดการศึกษาทีดีและมีมาตรฐาน (Oliva & Gordon II, 2013; Ornstein & Hunkins, 2018) ซึ่งต้องเริ่มจากหน่วยเล็กที่สุดนั่นคือ ระดับกระบวนวิชา (Course) และนำไปสู่ระดับโปรแกรม (Program) ของหลักสูตร

การทวนสอบมาตรฐานบางส่วนอาจจะดำเนินการโดยสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ที่มีความร่วมมือทางการศึกษาได้ แต่จะมีกระบวนการอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของการจัดการและความมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานร่วมกัน อย่างไรก็ตามสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนจะต้องรับผิดชอบในการทวนสอบมาตรฐานเพื่อให้มั่นใจว่าจะรักษามาตรฐานไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, 2552)

มาตรฐานผลการเรียนรู้คืออะไร

มาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) คือข้อกำหนดของคุณภาพเกี่ยวกับผลลัพธ์ของผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (2552) ได้ระบุว่า ทุกระดับคุณวุฒิและสาขา/สาขาวิชาต้องดำเนินการจัดหลักสูตร จัดการเรียนการสอน วัดและประเมินผลการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน ซึ่งครอบคลุมอย่างน้อย 5 ด้าน คือ

  1. ด้านคุณธรรม จริยธรรม
  2. ด้านความรู้
  3. ด้านทักษะทางปัญญา
  4. ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
  5. ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

ส่วนแต่ละหลักสูตรสามารถเพิ่มด้านที่ 6 ทักษะพิสัย หรือด้านความสามารถอื่นๆ เพิ่มเติมที่เฉพาะเจาะจงของตนเองได้ตามความเหมาสมของอัตลักษณ์เฉพาะศาสตร์หรือให้เป็นไปตามมาตรฐานของสภาวิชาชีพหรือมาตรฐานคุณวุฒิระดับสาขา/สาขาวิชา (มคอ.1) ได้

ระดับการทวนสอบ

การทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาตามมาตรฐานผลการเรียนรู้โดยทั่วไปจะดำเนินอยู่ 2 ระดับ คือ

  1. ระดับกระบวนวิชา
  2. ระดับหลักสูตร

การทวนสอบสำคัญอย่างไร

ความสำคัญของการทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ เป็นดังนี้

การทวนสอบระดับกระบวนวิชา
  • ช่วยให้อาจารย์ผู้สอนได้ตรวจสอบการกำหนดวัตถุประสงค์ของกระบวนวิชาว่า สอดคล้องหรือเป็นไปตามธรรมชาติของวิชาหรือไม่ และที่สำคัญสอดคล้องกับการกระจายความรับผิดชอบในหลักสูตร (Curriculum Mapping) ตามความรับผิดชอบหลัก (จุดดำ) และความรับผิดชอบรอง (จุดขาว) ที่ได้กำหนดไว้ในทั้ง มคอ.2 มคอ.3 และ มคอ.4 หรือไม่ อย่างไร
  • ช่วยให้อาจารย์ผู้สอนได้พิจารณาเกี่ยวกับองค์ความรู้ในเนื้อหาสาระ ทักษะการปฏิบัติ/ปฏิบัติการ และพฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรม ว่าครอบคลุม มีความถูกต้อง ทันสมัย และเหมาะสังคมในยุคปัจจุบันและอนาคตอยู่หรือไม่ ส่วนใดยากหรือง่ายเกินไป รวมทั้งเนื้อหาสาระที่จัดไว้ช่วยพัฒนานักศึกษาให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกระบวนวิชาที่กำหนดไว้ด้วยหรือไม่
  • ช่วยให้อาจารย์ผู้สอนได้ทบทวนการออกแบบและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละหัวข้อหรือแต่ละชั่วโมงว่าเหมาะสมตามเนื้อหาสาระ เหมาะสมกับผู้เรียน Gen Z ในปัจจุบันหรือไม่ กิจกรรมใดประสบความสำเร็จมากหรือสำเร็จน้อย หัวข้อใดใช้เวลามากกว่าปกติ การมีกิจกรรมอื่นๆ แทรกระหว่างภาคการศึกษาและการแก้ปัญหา รวมทั้งตรวจสอบว่ากิจกรรมการเรียนการสอนนั้นช่วยพัฒนาให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถตามวัตถุประสงค์ของกระบวนวิชาและผลการเรียนรู้ทั้งความรับผิดชอบหลัก (จุดดำ) และความรับผิดชอบรอง (จุดขาว) ตลอดจนควรมีการปรับปรุงหรือจัดกิจกรรมการเรียนการสอนใหม่ๆ และจะเลือกใช้สื่อดิจิทัลที่น่าสนใจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นักศึกษาหรือไม่ อย่างไร
  • ช่วยสะท้อนให้อาจารย์ผู้สอนได้ทบทวนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา ว่าตรงตามวัตถุประสงค์ของกระบวนวิชาและผลการเรียนรู้ในความรับผิดชอบหลัก (จุดดำ) หรือไม่ อย่างไร อาจารย์ผู้สอนใช้เครื่องมือในการวัดผลเหมาะสมกับพฤติกรรมการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้หรือไม่ อาทิ ข้อสอบ แบบประเมินการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน แบบสังเกตพฤติกรรม รูบริกส์ (Rubrics) การให้คะแนน เป็นต้น กำหนดสัดส่วนการให้คะแนนเหมาะสมตามธรรมชาติวิชาเพียงใด และมีประเด็นที่ควรปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง
การทวนสอบระดับหลักสูตร
  • ช่วยให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตร ได้มองเห็นภาพรวมของประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหลักสูตร ทั้งผลการเรียน (เกรด) ในแต่ละกระบวนวิชาและผลการประเมินการสอนของอาจารย์ในแต่ละกระบวนวิชา เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของเนื้อหาสาระ การสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ต่อไป ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับการกระจายความรับผิดชอบในหลักสูตร (Curriculum Mapping) ตามความรับผิดชอบหลัก (จุดดำ) และความรับผิดชอบรอง (จุดขาว) ใหม่ในหลักสูตร
  • ช่วยให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตร ได้ทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมาของหลักสูตร ตั้งแต่กระบวนการออกแบบและพัฒนาเนื้อหาสาระในหลักสูตรที่เกี่ยวพันทั้งปรัชญาของหลักสูตร วัตถุประสงค์ของหลักสูตร สมรรถนะทั่วไปและเฉพาะสาขาของหลักสูตร การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ของบัณฑิต (Program Learning Outcome: PLO) จุดเด่นของหลักสูตร กระบวนวิชาต่างๆ กิจกรรมเสริมหลักสูตร (Extracurricular activity) ฯลฯ ว่าสอดคล้องกันและบรรลุตามเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้ตั้งแรกหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และควรมีการพัฒนาหรือปรับปรุงอย่างไร และที่สำคัญการดำเนินงานที่ผ่านมานั้นสอดคล้องตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ของคณะและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากน้อยเพียงใด
  • ช่วยให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตร ได้แนวคิด มุมมองใหม่ และผลสะท้อนในทุกมิติเพื่อเป็นสารสนเทศนำมาสู่การปรับปรุงหลักสูตรในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะความถูกต้องของการกำหนดเนื้อหาและทักษะการปฏิบัติต่างๆ ตามธรรมชาติของศาสตร์ ความทันสมัยของเนื้อหาสาระที่เหมาะกับสังคมยุคดิจิทัล โอกาสที่นักศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วจะนำเอาองค์ความรู้ ทักษะ และคุณธรรมจริยธรรมที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตรไปใช้จริงในโลกแห่งการทำงาน และที่สำคัญควรสะท้อนอัตลักษณ์ของความเป็นบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย
  • ช่วยให้กำลังใจแก่อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตร ว่าผลลัพธ์ของผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาไปเป็นบัณฑิตนั้น มีภาวะการมีงานทำอยู่ระดับที่น่าพอใจ มีความรู้ความสามารถและคุณลักษณะเหมาะสมและสอดคล้องตามมาตรฐานผลการเรียนรู้และ/หรือสภาวิชาชีพ เป็นบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีคุณธรรมและคุณภาพ มีทักษะการเป็นพลเมืองโลก (อุษณีย์ คำประกอบ, 2562; อัจฉราพร ศรีภูษณาพรรณ, 2562) มุ่งมั่นในการฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ สามารถครองตน ครองตน และครองงาน รวมทั้งมีมโนสำนึกที่ดีต่อสังคม เมื่อจบการศึกษาไปแล้วมากน้อยเพียงใด

คณะกรรมการทวนสอบประกอบด้วยใครบ้าง

          คณะกรรมการทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาตามมาตรฐานผลการเรียนรู้สามารถแบ่งได้ตามระดับการทวนสอบ คือ คณะกรรมการทวนสอบระดับกระบวนวิชาและคณะกรรมการทวนสอบระดับหลักสูตร องค์ประกอบ แสดงได้ดังตาราง

คณะกรรมการทวนสอบระดับกระบวนวิชา
คณะกรรมการทวนสอบระดับหลักสูตร
1. ผู้บริหารฝ่ายวิชาการ

2. หัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าสาขา

3. คณะกรรมการบริหารหลักสูตร

4. อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร

5. อาจารย์ประจำหลักสูตร

6. ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น

7. ผู้ใช้บัณฑิต

ฯลฯ

1. ผู้บริหารฝ่ายวิชาการ

2. หัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าสาขา

3. ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น

4. ผู้ใช้บัณฑิต

5. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

6. ผู้ให้ทุน/สนับสนุนการศึกษา (ถ้ามี)

7. ผู้แทนสภาวิชาชีพ (ถ้ามี)

ฯลฯ

ผู้ให้ข้อมูล
ผู้ให้ข้อมูล
1. อาจารย์ผู้สอน

2. นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนกระบวนวิชานั้น

3. ฝ่ายสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง

ฯลฯ

1. อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร

2. อาจารย์ประจำหลักสูตร

3. นักศึกษาในสังกัดหลักสูตรนั้น

4. บัณฑิต

5. ผู้ใช้บัณฑิต

6. ผู้บริหาร

7. ฝ่ายสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง

8. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ผู้ปกครอง

ฯลฯ

การทวนสอบทำอย่างไร

การทวนสอบทั้ง 2 ระดับ คณะกรรมการทวนสอบสามารถดำเนินการได้ดังนี้ (นาตยา ปิลันธนานนท์, 2560; ฤตินันท์ สมุทร์ทัย, วีณา วโรตมะวิชญ และเสาวนิตย์ เจริญชัย, 2560)

การทวนสอบระดับกระบวนวิชา

เป็นการดำเนินการเพื่อหาหลักฐานเพื่อยืนยันว่า อาจารย์ผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนตั้งแต่การวางแผน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามที่ได้กำหนดความรับผิดชอบไว้ใน มคอ.3 (จุดดำและจุดขาว)

กลยุทธ์การทวนสอบระดับกระบวนวิชา

คณะกรรมการทวนสอบ สามารถดำเนินการได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    • สุ่มประเมินรายละเอียดของกระบวนวิชาว่า ผลการเรียนรู้ที่กำหนด สอดคล้องกับความรับผิดชอบในหลักสูตรหรือไม่
    • สุ่มประเมินข้อสอบของกระบวนวิชาว่า ครอบคลุมผลการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดของกระบวนวิชาหรือไม่
    • พิจารณาความเหมาะสมของวิธีการ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ที่สอดคล้องกับที่กำหนดในรายละเอียดของกระบวนวิชา
    • พิจารณาความเหมาะสมของการตรวจให้คะแนนจากกระดาษคำตอบของนักศึกษา แบบฟอร์มการให้คะแนน ที่มาของเกรด และกระบวนการตัดเกรด
    • ตรวจสอบผลการประเมินการเรียนรู้ของนักศึกษา (คะแนน/เกรด) กับข้อสอบ
    • พิจารณาความเหมาะสมของเกณฑ์การประเมินผลของรายวิชา
    • ตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมของการให้คะแนนกับข้อสอบในกระดาษคำตอบ
    • เปรียบเทียบการให้คะแนนจากกระดาษคำตอบเดียวกัน ในเนื้อหาสาระนั้น โดยอาจารย์ผู้สอนกับผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในหรือภายนอกสถาบัน
    • พิจารณาความเหมาะสมของการมอบหมายและประเมินรายงาน โครงงาน และอื่นๆ ที่ให้ผู้เรียนทำ
    • ตรวจสอบผลการสอบ ผลการประเมินการฝึกประสบการณ์ภาคสนามของนักศึกษา (คะแนน/เกรด) กับจำนวนและลักษณะของผู้รับบริการ
    • ตรวจสอบแผนการปฏิบัติงานในโครงการประสบการณ์ภาคสนามของนักศึกษา และรายงานกรณีศึกษาในวิชาภาคปฏิบัติที่นักศึกษาทำ เพื่อขอรับการประเมิน
    • ตรวจแบบฟอร์มการให้คะแนนการปฏิบัติงาน  (Performance Evaluation)
    • การให้คะแนนพฤติกรรมของนักศึกษา
    • ดูรายงานและหลักฐานการเข้าชั้นเรียนของนักศึกษา
    • ตรวจสอบการประเมินด้วยวิธีอื่นที่กำหนดในรายละเอียดวิชา (มคอ.3 และ 4)
    • ตรวจสอบการอุทธรณ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษา (ถ้ามี)

การทวนสอบจากการประเมินของนักศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ผู้สอน สามารถดำเนินการได้ดังนี้

    • พิจารณาจากผลการประเมินการสอนของนักศึกษา เกี่ยวกับประสิทธิผลของกระบวนวิชา วิธีการสอน การจัดกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีผลกระทบต่อการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่ได้รับ
    • พิจารณาข้อเสนอแนะของนักศึกษา เพื่อปรับปรุงกระบวนวิชา
    • สัมภาษณ์ตัวแทนนักศึกษา
    • การสังเกตพฤติกรรมและการโต้ตอบของนักศึกษา การสะท้อนคิด (Reflective journal) ของนักศึกษา
วิธีการทวนสอบระดับกระบวนวิชา
  • การตรวจสอบ
  • การประเมิน
  • การสอบถาม
  • การสัมภาษณ์
  • การสังเกต
  • การสำรวจ

การทวนสอบระดับหลักสูตร

การทวนสอบระดับหลักสูตร เป็นกระบวนการดำเนินการเพื่อหาหลักฐานเพื่อยืนยัน พิสูจน์ สนับสนุนการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร อาจารย์ผู้ประจำหลักสูตร อาจารย์ผู้สอน และผู้มีส่วนรับผิดชอบในหลักสูตรว่าได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้ เพื่อนำไปสู่การประเมิน ปรับปรุง และยกระดับการดำเนินงานของหลักสูตรและประกันคุณภาพหลักสูตร

กลยุทธ์การทวนสอบระดับหลักสูตร

คณะกรรมการทวนสอบระดับหลักสูตร สามารถดำเนินการได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    • ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่ครอบคลุมผลการเรียนรู้ทุกด้านตามมาตรฐานคุณวุฒิสาขาวิชา (มคอ.1) และ/หรือ มคอ.2
      – ประเมินความสำเร็จของการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ โดยประเมินจาก

      • แหล่งฝึกงาน สถานประกอบการที่ไปสหกิจศึกษา แหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
      • ผู้ใช้บัณฑิต
      • บัณฑิตใหม่
      • ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

❏ ดูจากผลงาน รางวัล กิจกรรมของนักศึกษา ที่สามารถวัดเป็นรูปธรรมได้ เช่น

      • จำนวนโปรแกรมสำเร็จรูปที่พัฒนาเองและวางขาย
      • จำนวนสิทธิบัตร
      • จำนวนรางวัลทางสังคมและวิชาชีพ
      • จำนวนกิจกรรมการกุศลเพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติ
      • จำนวนกิจกรรมอาสาสมัครในองค์กรที่ประโยชน์ต่อสังคม

❏ พิจารณาผลการสอบประมวลผลการเรียนรู้โดยรวม ก่อนจบการศึกษา (Exit Examination)

❏ การเทียบเคียงผลการทดสอบการเรียนรู้ของนักศึกษาเรากับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่น โดยใช้ข้อสอบกลางของเครือข่ายสถาบัน หรือของสมาคมวิชาชีพ

❏ พิจารณาผลการสอบจากการแลกเปลี่ยนข้อสอบในเนื้อหาสาระที่สำคัญระหว่างหลักสูตรเดียวกันในต่างมหาวิทยาลัยหรือการใช้ข้อสอบกลางของเครือข่ายสถาบันการศึกษาสาขาวิชาเดียวกัน แล้วเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของแต่ละสถาบัน

❏ พิจารณาภาวะการได้งานทำของบัณฑิต

❏ ดูจากความคิดเห็นที่มีต่อความรู้ ความสามารถ ความมั่นใจของบัณฑิตในการประกอบอาชีพ

❏ ประเมินจากบัณฑิตที่ไปประกอบอาชีพในส่วนของความพร้อมและความรู้จากสาขาวิชาที่เรียน ซึ่งกำหนดในหลักสูตร รวมทั้งเปิดโอกาสให้เสนอข้อคิดเห็นในการปรับหลักสูตรให้ดียิ่งขึ้น

❏ พิจารณาจากการประเมินตำแหน่ง และ/หรือความก้าวหน้าในสายงานของบัณฑิต

❏ การสอบถามผู้ประกอบการ โดยการขอเข้าสัมภาษณ์ และ/หรือการส่งแบบสอบถาม เพื่อประเมินความพึงพอใจในบัณฑิตที่จบการศึกษาและเข้าทำงานในสถานประกอบการนั้นๆ

❏ การประเมินจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น โดยการส่งแบบสอบถาม หรือสอบถามระดับความพึงพอใจในด้านความรู้ ความพร้อม และคุณสมบัติด้านอื่นๆ ของบัณฑิตที่จบการศึกษาและเข้าศึกษาต่อเพื่อปริญญาที่สูงขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ที่มีความร่วมมือทางด้านการศึกษาด้วยกัน

❏ ความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ประเมินหลักสูตรหรืออาจารย์พิเศษ ต่อความพร้อมของนักศึกษาในการเรียนและคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาองค์ความรู้ของนักศึกษา

วิธีการทวนสอบระดับหลักสูตร

❏ การสำรวจ

❏ การสังเกต

❏ การสอบถาม

❏ การสัมภาษณ์

❏ การประชุม

❏ การตรวจสอบ

❏ การประเมิน

เงื่อนไขความสำเร็จของการทวนสอบคืออะไร

การทวนสอบมีเงื่อนไขความสำเร็จ คือ

  1. ความสะดวกในการดำเนินการ ต้องง่ายและไม่ซับซ้อน ไม่เน้นปริมาณเอกสาร (Small is beautiful) แต่ตอบคำถามที่สำคัญได้อย่างพอเพียง
  2. ความเข้าใจที่ตรงกันและสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  3. การไม่เพิ่มภาระงานให้กับผู้สอนและผู้ประสานงาน บูรณาการเข้ากับการทำงานปกติ
  4. การสนับสนุนจากผู้บริหารและฝ่ายสนับสนุน ทั้งในด้านงบประมาณ การดำเนินการ และสิ่งสนับสนุน
  5. เน้นบรรยากาศการทวนสอบแบบกัลยาณมิตร ให้ข้อมูลเชิงบวกและเชิงพัฒนา ห้ามเน้นการจับผิดหรือวิจารณ์เชิงลบมากจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหมดกำลังใจในการสอนและทำงาน
  6. การสร้างทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับการทวนสอบให้กับคณาจารย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ตัวอย่างที่เป็นแนวทางในการทวนสอบ

ในที่นี้ผู้เขียนขอนำเสนอตัวอย่างรูปแบบการทวนสอบระดับกระบวนวิชาที่มีชื่อว่า “โมเดล 4 ประสานการทวนสอบระดับกระบวนวิชา” ซึ่งผู้เขียนได้ริเริ่มคิดค้นขึ้นเพื่อดำเนินการทวนสอบในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยอาศัยพื้นฐานความคิดมาจากทฤษฎีหลักสูตรของ Tyler (1949)

โมเดล 4 ประสานการทวนสอบ ระดับกระบวนวิชา

เป็นการพิจารณาถึงความสัมพันธ์และสอดคล้องกันของการดำเนินการเกี่ยวกับหลักสูตรในองค์ประกอบพื้นฐาน 4 ประการ คือ

  1. วัตถุประสงค์ของกระบวนวิชา (Objective: O)
  2. เนื้อหาสาระ (Content: C)
  3. การจัดการเรียนรู้ (Learning management: L)
  4. การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ (Measurement & Evaluation: E)

ตัวอย่างเครื่องมือการทวนสอบ

สามารถศึกษาตัวอย่างเครื่องมือการทวนสอบได้ที่ คู่มือการทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาตามมาตรฐานผลการเรียนรู้


สื่อประกอบบทความการทวนสอบ

รศ.ดร.สมเกียรติ อินทสิงห์ สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
อ.ดร.สุนีย์ เงินยวง สาขาวิชาประเมินผลและวิจัยการศึกษา
อ.ดร.น้ำผึ้ง อินทะเนตร สาขาวิชาประเมินผลและวิจัยการศึกษา
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาตามมาตรฐานผลการเรียนรู้