การทวนสอบ (Verification) คืออะไร
การทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการหาหลักฐานเพื่อยืนยันหรือสนับสนุนว่า นักศึกษาทุกคนมีผลสัมฤทธิ์การศึกษาตรงตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ที่กำหนดไว้เป็นอย่างน้อย
สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอนจำเป็นต้องดำเนินการให้มีการทวนสอบในทุกระดับการศึกษา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า จะได้รับการจัดการศึกษาทีดีและมีมาตรฐาน (Oliva & Gordon II, 2013; Ornstein & Hunkins, 2018) ซึ่งต้องเริ่มจากหน่วยเล็กที่สุดนั่นคือ ระดับกระบวนวิชา (Course) และนำไปสู่ระดับโปรแกรม (Program) ของหลักสูตร
การทวนสอบมาตรฐานบางส่วนอาจจะดำเนินการโดยสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ที่มีความร่วมมือทางการศึกษาได้ แต่จะมีกระบวนการอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของการจัดการและความมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานร่วมกัน อย่างไรก็ตามสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนจะต้องรับผิดชอบในการทวนสอบมาตรฐานเพื่อให้มั่นใจว่าจะรักษามาตรฐานไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, 2552)
มาตรฐานผลการเรียนรู้คืออะไร
มาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) คือข้อกำหนดของคุณภาพเกี่ยวกับผลลัพธ์ของผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (2552) ได้ระบุว่า ทุกระดับคุณวุฒิและสาขา/สาขาวิชาต้องดำเนินการจัดหลักสูตร จัดการเรียนการสอน วัดและประเมินผลการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน ซึ่งครอบคลุมอย่างน้อย 5 ด้าน คือ
- ด้านคุณธรรม จริยธรรม
- ด้านความรู้
- ด้านทักษะทางปัญญา
- ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
- ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
ส่วนแต่ละหลักสูตรสามารถเพิ่มด้านที่ 6 ทักษะพิสัย หรือด้านความสามารถอื่นๆ เพิ่มเติมที่เฉพาะเจาะจงของตนเองได้ตามความเหมาสมของอัตลักษณ์เฉพาะศาสตร์หรือให้เป็นไปตามมาตรฐานของสภาวิชาชีพหรือมาตรฐานคุณวุฒิระดับสาขา/สาขาวิชา (มคอ.1) ได้
ระดับการทวนสอบ
การทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาตามมาตรฐานผลการเรียนรู้โดยทั่วไปจะดำเนินอยู่ 2 ระดับ คือ
- ระดับกระบวนวิชา
- ระดับหลักสูตร
การทวนสอบสำคัญอย่างไร
ความสำคัญของการทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ เป็นดังนี้
การทวนสอบระดับกระบวนวิชา
- ช่วยให้อาจารย์ผู้สอนได้ตรวจสอบการกำหนดวัตถุประสงค์ของกระบวนวิชาว่า สอดคล้องหรือเป็นไปตามธรรมชาติของวิชาหรือไม่ และที่สำคัญสอดคล้องกับการกระจายความรับผิดชอบในหลักสูตร (Curriculum Mapping) ตามความรับผิดชอบหลัก (จุดดำ) และความรับผิดชอบรอง (จุดขาว) ที่ได้กำหนดไว้ในทั้ง มคอ.2 มคอ.3 และ มคอ.4 หรือไม่ อย่างไร
- ช่วยให้อาจารย์ผู้สอนได้พิจารณาเกี่ยวกับองค์ความรู้ในเนื้อหาสาระ ทักษะการปฏิบัติ/ปฏิบัติการ และพฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรม ว่าครอบคลุม มีความถูกต้อง ทันสมัย และเหมาะสังคมในยุคปัจจุบันและอนาคตอยู่หรือไม่ ส่วนใดยากหรือง่ายเกินไป รวมทั้งเนื้อหาสาระที่จัดไว้ช่วยพัฒนานักศึกษาให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกระบวนวิชาที่กำหนดไว้ด้วยหรือไม่
- ช่วยให้อาจารย์ผู้สอนได้ทบทวนการออกแบบและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละหัวข้อหรือแต่ละชั่วโมงว่าเหมาะสมตามเนื้อหาสาระ เหมาะสมกับผู้เรียน Gen Z ในปัจจุบันหรือไม่ กิจกรรมใดประสบความสำเร็จมากหรือสำเร็จน้อย หัวข้อใดใช้เวลามากกว่าปกติ การมีกิจกรรมอื่นๆ แทรกระหว่างภาคการศึกษาและการแก้ปัญหา รวมทั้งตรวจสอบว่ากิจกรรมการเรียนการสอนนั้นช่วยพัฒนาให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถตามวัตถุประสงค์ของกระบวนวิชาและผลการเรียนรู้ทั้งความรับผิดชอบหลัก (จุดดำ) และความรับผิดชอบรอง (จุดขาว) ตลอดจนควรมีการปรับปรุงหรือจัดกิจกรรมการเรียนการสอนใหม่ๆ และจะเลือกใช้สื่อดิจิทัลที่น่าสนใจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นักศึกษาหรือไม่ อย่างไร
- ช่วยสะท้อนให้อาจารย์ผู้สอนได้ทบทวนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา ว่าตรงตามวัตถุประสงค์ของกระบวนวิชาและผลการเรียนรู้ในความรับผิดชอบหลัก (จุดดำ) หรือไม่ อย่างไร อาจารย์ผู้สอนใช้เครื่องมือในการวัดผลเหมาะสมกับพฤติกรรมการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้หรือไม่ อาทิ ข้อสอบ แบบประเมินการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน แบบสังเกตพฤติกรรม รูบริกส์ (Rubrics) การให้คะแนน เป็นต้น กำหนดสัดส่วนการให้คะแนนเหมาะสมตามธรรมชาติวิชาเพียงใด และมีประเด็นที่ควรปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง
การทวนสอบระดับหลักสูตร
- ช่วยให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตร ได้มองเห็นภาพรวมของประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหลักสูตร ทั้งผลการเรียน (เกรด) ในแต่ละกระบวนวิชาและผลการประเมินการสอนของอาจารย์ในแต่ละกระบวนวิชา เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของเนื้อหาสาระ การสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ต่อไป ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับการกระจายความรับผิดชอบในหลักสูตร (Curriculum Mapping) ตามความรับผิดชอบหลัก (จุดดำ) และความรับผิดชอบรอง (จุดขาว) ใหม่ในหลักสูตร
- ช่วยให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตร ได้ทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมาของหลักสูตร ตั้งแต่กระบวนการออกแบบและพัฒนาเนื้อหาสาระในหลักสูตรที่เกี่ยวพันทั้งปรัชญาของหลักสูตร วัตถุประสงค์ของหลักสูตร สมรรถนะทั่วไปและเฉพาะสาขาของหลักสูตร การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ของบัณฑิต (Program Learning Outcome: PLO) จุดเด่นของหลักสูตร กระบวนวิชาต่างๆ กิจกรรมเสริมหลักสูตร (Extracurricular activity) ฯลฯ ว่าสอดคล้องกันและบรรลุตามเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้ตั้งแรกหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และควรมีการพัฒนาหรือปรับปรุงอย่างไร และที่สำคัญการดำเนินงานที่ผ่านมานั้นสอดคล้องตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ของคณะและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากน้อยเพียงใด
- ช่วยให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตร ได้แนวคิด มุมมองใหม่ และผลสะท้อนในทุกมิติเพื่อเป็นสารสนเทศนำมาสู่การปรับปรุงหลักสูตรในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะความถูกต้องของการกำหนดเนื้อหาและทักษะการปฏิบัติต่างๆ ตามธรรมชาติของศาสตร์ ความทันสมัยของเนื้อหาสาระที่เหมาะกับสังคมยุคดิจิทัล โอกาสที่นักศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วจะนำเอาองค์ความรู้ ทักษะ และคุณธรรมจริยธรรมที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตรไปใช้จริงในโลกแห่งการทำงาน และที่สำคัญควรสะท้อนอัตลักษณ์ของความเป็นบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย
- ช่วยให้กำลังใจแก่อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตร ว่าผลลัพธ์ของผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาไปเป็นบัณฑิตนั้น มีภาวะการมีงานทำอยู่ระดับที่น่าพอใจ มีความรู้ความสามารถและคุณลักษณะเหมาะสมและสอดคล้องตามมาตรฐานผลการเรียนรู้และ/หรือสภาวิชาชีพ เป็นบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีคุณธรรมและคุณภาพ มีทักษะการเป็นพลเมืองโลก (อุษณีย์ คำประกอบ, 2562; อัจฉราพร ศรีภูษณาพรรณ, 2562) มุ่งมั่นในการฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ สามารถครองตน ครองตน และครองงาน รวมทั้งมีมโนสำนึกที่ดีต่อสังคม เมื่อจบการศึกษาไปแล้วมากน้อยเพียงใด
คณะกรรมการทวนสอบประกอบด้วยใครบ้าง
คณะกรรมการทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาตามมาตรฐานผลการเรียนรู้สามารถแบ่งได้ตามระดับการทวนสอบ คือ คณะกรรมการทวนสอบระดับกระบวนวิชาและคณะกรรมการทวนสอบระดับหลักสูตร องค์ประกอบ แสดงได้ดังตาราง
คณะกรรมการทวนสอบระดับกระบวนวิชา |
คณะกรรมการทวนสอบระดับหลักสูตร |
1. ผู้บริหารฝ่ายวิชาการ
2. หัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าสาขา 3. คณะกรรมการบริหารหลักสูตร 4. อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร 5. อาจารย์ประจำหลักสูตร 6. ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น 7. ผู้ใช้บัณฑิต ฯลฯ |
1. ผู้บริหารฝ่ายวิชาการ
2. หัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าสาขา 3. ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น 4. ผู้ใช้บัณฑิต 5. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 6. ผู้ให้ทุน/สนับสนุนการศึกษา (ถ้ามี) 7. ผู้แทนสภาวิชาชีพ (ถ้ามี) ฯลฯ |
ผู้ให้ข้อมูล |
ผู้ให้ข้อมูล |
1. อาจารย์ผู้สอน
2. นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนกระบวนวิชานั้น 3. ฝ่ายสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ |
1. อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร
2. อาจารย์ประจำหลักสูตร 3. นักศึกษาในสังกัดหลักสูตรนั้น 4. บัณฑิต 5. ผู้ใช้บัณฑิต 6. ผู้บริหาร 7. ฝ่ายสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง 8. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ผู้ปกครอง ฯลฯ |
การทวนสอบทำอย่างไร
การทวนสอบทั้ง 2 ระดับ คณะกรรมการทวนสอบสามารถดำเนินการได้ดังนี้ (นาตยา ปิลันธนานนท์, 2560; ฤตินันท์ สมุทร์ทัย, วีณา วโรตมะวิชญ และเสาวนิตย์ เจริญชัย, 2560)
การทวนสอบระดับกระบวนวิชา
เป็นการดำเนินการเพื่อหาหลักฐานเพื่อยืนยันว่า อาจารย์ผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนตั้งแต่การวางแผน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามที่ได้กำหนดความรับผิดชอบไว้ใน มคอ.3 (จุดดำและจุดขาว)
กลยุทธ์การทวนสอบระดับกระบวนวิชา
คณะกรรมการทวนสอบ สามารถดำเนินการได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้
-
- สุ่มประเมินรายละเอียดของกระบวนวิชาว่า ผลการเรียนรู้ที่กำหนด สอดคล้องกับความรับผิดชอบในหลักสูตรหรือไม่
- สุ่มประเมินข้อสอบของกระบวนวิชาว่า ครอบคลุมผลการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดของกระบวนวิชาหรือไม่
- พิจารณาความเหมาะสมของวิธีการ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ที่สอดคล้องกับที่กำหนดในรายละเอียดของกระบวนวิชา
- พิจารณาความเหมาะสมของการตรวจให้คะแนนจากกระดาษคำตอบของนักศึกษา แบบฟอร์มการให้คะแนน ที่มาของเกรด และกระบวนการตัดเกรด
- ตรวจสอบผลการประเมินการเรียนรู้ของนักศึกษา (คะแนน/เกรด) กับข้อสอบ
- พิจารณาความเหมาะสมของเกณฑ์การประเมินผลของรายวิชา
- ตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมของการให้คะแนนกับข้อสอบในกระดาษคำตอบ
- เปรียบเทียบการให้คะแนนจากกระดาษคำตอบเดียวกัน ในเนื้อหาสาระนั้น โดยอาจารย์ผู้สอนกับผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในหรือภายนอกสถาบัน
- พิจารณาความเหมาะสมของการมอบหมายและประเมินรายงาน โครงงาน และอื่นๆ ที่ให้ผู้เรียนทำ
- ตรวจสอบผลการสอบ ผลการประเมินการฝึกประสบการณ์ภาคสนามของนักศึกษา (คะแนน/เกรด) กับจำนวนและลักษณะของผู้รับบริการ
- ตรวจสอบแผนการปฏิบัติงานในโครงการประสบการณ์ภาคสนามของนักศึกษา และรายงานกรณีศึกษาในวิชาภาคปฏิบัติที่นักศึกษาทำ เพื่อขอรับการประเมิน
- ตรวจแบบฟอร์มการให้คะแนนการปฏิบัติงาน (Performance Evaluation)
- การให้คะแนนพฤติกรรมของนักศึกษา
- ดูรายงานและหลักฐานการเข้าชั้นเรียนของนักศึกษา
- ตรวจสอบการประเมินด้วยวิธีอื่นที่กำหนดในรายละเอียดวิชา (มคอ.3 และ 4)
- ตรวจสอบการอุทธรณ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษา (ถ้ามี)
การทวนสอบจากการประเมินของนักศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ผู้สอน สามารถดำเนินการได้ดังนี้
-
- พิจารณาจากผลการประเมินการสอนของนักศึกษา เกี่ยวกับประสิทธิผลของกระบวนวิชา วิธีการสอน การจัดกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีผลกระทบต่อการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่ได้รับ
- พิจารณาข้อเสนอแนะของนักศึกษา เพื่อปรับปรุงกระบวนวิชา
- สัมภาษณ์ตัวแทนนักศึกษา
- การสังเกตพฤติกรรมและการโต้ตอบของนักศึกษา การสะท้อนคิด (Reflective journal) ของนักศึกษา
วิธีการทวนสอบระดับกระบวนวิชา
- การตรวจสอบ
- การประเมิน
- การสอบถาม
- การสัมภาษณ์
- การสังเกต
- การสำรวจ
การทวนสอบระดับหลักสูตร
การทวนสอบระดับหลักสูตร เป็นกระบวนการดำเนินการเพื่อหาหลักฐานเพื่อยืนยัน พิสูจน์ สนับสนุนการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร อาจารย์ผู้ประจำหลักสูตร อาจารย์ผู้สอน และผู้มีส่วนรับผิดชอบในหลักสูตรว่าได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้ เพื่อนำไปสู่การประเมิน ปรับปรุง และยกระดับการดำเนินงานของหลักสูตรและประกันคุณภาพหลักสูตร
กลยุทธ์การทวนสอบระดับหลักสูตร
คณะกรรมการทวนสอบระดับหลักสูตร สามารถดำเนินการได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้
-
- ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่ครอบคลุมผลการเรียนรู้ทุกด้านตามมาตรฐานคุณวุฒิสาขาวิชา (มคอ.1) และ/หรือ มคอ.2
– ประเมินความสำเร็จของการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ โดยประเมินจาก- แหล่งฝึกงาน สถานประกอบการที่ไปสหกิจศึกษา แหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
- ผู้ใช้บัณฑิต
- บัณฑิตใหม่
- ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่ครอบคลุมผลการเรียนรู้ทุกด้านตามมาตรฐานคุณวุฒิสาขาวิชา (มคอ.1) และ/หรือ มคอ.2
❏ ดูจากผลงาน รางวัล กิจกรรมของนักศึกษา ที่สามารถวัดเป็นรูปธรรมได้ เช่น
-
-
- จำนวนโปรแกรมสำเร็จรูปที่พัฒนาเองและวางขาย
- จำนวนสิทธิบัตร
- จำนวนรางวัลทางสังคมและวิชาชีพ
- จำนวนกิจกรรมการกุศลเพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติ
- จำนวนกิจกรรมอาสาสมัครในองค์กรที่ประโยชน์ต่อสังคม
-
❏ พิจารณาผลการสอบประมวลผลการเรียนรู้โดยรวม ก่อนจบการศึกษา (Exit Examination)
❏ การเทียบเคียงผลการทดสอบการเรียนรู้ของนักศึกษาเรากับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่น โดยใช้ข้อสอบกลางของเครือข่ายสถาบัน หรือของสมาคมวิชาชีพ
❏ พิจารณาผลการสอบจากการแลกเปลี่ยนข้อสอบในเนื้อหาสาระที่สำคัญระหว่างหลักสูตรเดียวกันในต่างมหาวิทยาลัยหรือการใช้ข้อสอบกลางของเครือข่ายสถาบันการศึกษาสาขาวิชาเดียวกัน แล้วเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของแต่ละสถาบัน
❏ พิจารณาภาวะการได้งานทำของบัณฑิต
❏ ดูจากความคิดเห็นที่มีต่อความรู้ ความสามารถ ความมั่นใจของบัณฑิตในการประกอบอาชีพ
❏ ประเมินจากบัณฑิตที่ไปประกอบอาชีพในส่วนของความพร้อมและความรู้จากสาขาวิชาที่เรียน ซึ่งกำหนดในหลักสูตร รวมทั้งเปิดโอกาสให้เสนอข้อคิดเห็นในการปรับหลักสูตรให้ดียิ่งขึ้น
❏ พิจารณาจากการประเมินตำแหน่ง และ/หรือความก้าวหน้าในสายงานของบัณฑิต
❏ การสอบถามผู้ประกอบการ โดยการขอเข้าสัมภาษณ์ และ/หรือการส่งแบบสอบถาม เพื่อประเมินความพึงพอใจในบัณฑิตที่จบการศึกษาและเข้าทำงานในสถานประกอบการนั้นๆ
❏ การประเมินจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น โดยการส่งแบบสอบถาม หรือสอบถามระดับความพึงพอใจในด้านความรู้ ความพร้อม และคุณสมบัติด้านอื่นๆ ของบัณฑิตที่จบการศึกษาและเข้าศึกษาต่อเพื่อปริญญาที่สูงขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ที่มีความร่วมมือทางด้านการศึกษาด้วยกัน
❏ ความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ประเมินหลักสูตรหรืออาจารย์พิเศษ ต่อความพร้อมของนักศึกษาในการเรียนและคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาองค์ความรู้ของนักศึกษา
วิธีการทวนสอบระดับหลักสูตร
❏ การสำรวจ
❏ การสังเกต
❏ การสอบถาม
❏ การสัมภาษณ์
❏ การประชุม
❏ การตรวจสอบ
❏ การประเมิน
เงื่อนไขความสำเร็จของการทวนสอบคืออะไร
การทวนสอบมีเงื่อนไขความสำเร็จ คือ
- ความสะดวกในการดำเนินการ ต้องง่ายและไม่ซับซ้อน ไม่เน้นปริมาณเอกสาร (Small is beautiful) แต่ตอบคำถามที่สำคัญได้อย่างพอเพียง
- ความเข้าใจที่ตรงกันและสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
- การไม่เพิ่มภาระงานให้กับผู้สอนและผู้ประสานงาน บูรณาการเข้ากับการทำงานปกติ
- การสนับสนุนจากผู้บริหารและฝ่ายสนับสนุน ทั้งในด้านงบประมาณ การดำเนินการ และสิ่งสนับสนุน
- เน้นบรรยากาศการทวนสอบแบบกัลยาณมิตร ให้ข้อมูลเชิงบวกและเชิงพัฒนา ห้ามเน้นการจับผิดหรือวิจารณ์เชิงลบมากจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหมดกำลังใจในการสอนและทำงาน
- การสร้างทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับการทวนสอบให้กับคณาจารย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ตัวอย่างที่เป็นแนวทางในการทวนสอบ
ในที่นี้ผู้เขียนขอนำเสนอตัวอย่างรูปแบบการทวนสอบระดับกระบวนวิชาที่มีชื่อว่า “โมเดล 4 ประสานการทวนสอบระดับกระบวนวิชา” ซึ่งผู้เขียนได้ริเริ่มคิดค้นขึ้นเพื่อดำเนินการทวนสอบในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยอาศัยพื้นฐานความคิดมาจากทฤษฎีหลักสูตรของ Tyler (1949)
โมเดล 4 ประสานการทวนสอบ ระดับกระบวนวิชา
เป็นการพิจารณาถึงความสัมพันธ์และสอดคล้องกันของการดำเนินการเกี่ยวกับหลักสูตรในองค์ประกอบพื้นฐาน 4 ประการ คือ
- วัตถุประสงค์ของกระบวนวิชา (Objective: O)
- เนื้อหาสาระ (Content: C)
- การจัดการเรียนรู้ (Learning management: L)
- การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ (Measurement & Evaluation: E)

ตัวอย่างเครื่องมือการทวนสอบ
สามารถศึกษาตัวอย่างเครื่องมือการทวนสอบได้ที่ คู่มือการทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาตามมาตรฐานผลการเรียนรู้
สื่อประกอบบทความการทวนสอบ
รศ.ดร.สมเกียรติ อินทสิงห์ สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
อ.ดร.สุนีย์ เงินยวง สาขาวิชาประเมินผลและวิจัยการศึกษา
อ.ดร.น้ำผึ้ง อินทะเนตร สาขาวิชาประเมินผลและวิจัยการศึกษา
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่